ประวัติสวนกุหลาบ นนทบุรี
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี : Suankularb Wittayalai Nonthaburi School (อักษรย่อ: ส.ก.น., S.K.N.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประเภทสหศึกษาในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัย ลำดับที่สอง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต 2 สหวิทยาเขตเบญจวิทยานนท์กองการมัธยมศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ชื่อเดิม: กรมสามัญศึกษา)กระทรวงศึกษาธิการ
โดยกรมสามัญศึกษา ได้รับบริจาคที่ดิน จากนายผาสุก และนางเง็ก มณีจักร สองสามีภรรยา คหบดีชาวอำเภอปากเกร็ด ที่มีความประสงค์ให้สร้างโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัย บนพื้นที่ดังกล่าว จึงเกิดการประสานงานจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 30 มีนาคมพ.ศ. 2521 เดิมให้ชื่อไว้ว่า “โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ๒ (ผาสุก มณีจักร)” และมอบหมายให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รักษาราชการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน จนถึงปลายปีถัดมา จึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียน เป็นชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และในปีเดียวกัน นางอัมพา แสนทวีสุข ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก และเลื่อนฐานะขึ้นเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนฯ ในเวลาต่อมา
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียน “สธ ๑, สธ ๒ และ สธ ๓” เมื่อกลางปี พ.ศ. 2525 และปลายปี พ.ศ. 2529 ตามลำดับ ตลอดจนพระราชทานนาม อาคารเรียน “สธ ๔” และ อาคารหอประชุม “สิรินธราลัย” ด้วย นอกจากนี้ โรงเรียนฯ ยังได้รับรางวัลสถานศึกษาพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2532 และ 2544 และในปี พ.ศ. 2541 นักเรียนของโรงเรียนฯ ยังได้รับรางวัลเหรียญทองแดง จากการเข้าร่วมการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก ที่ประเทศอิตาลี ในฐานะผู้แทนประเทศไทย ขณะที่นักกีฬาของโรงเรียนฯ ได้รับรางวัลเหรียญทอง ในฐานะผู้แทนทีมชาติไทย จากการเข้าร่วมการแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 อีกด้วย
ปัจจุบัน มีเนื้อที่ 25 ไร่ 3 งาน 18 ตารางวา ประกอบด้วยอาคารเรียน 9 หลัง เปิดสอนในช่วงชั้นการศึกษาที่ 3 และ 4 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 38 ห้องเรียน และมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนการเรียน วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์, ศิลปศาสตร์-คณิตศาสตร์ (ศิลป์-คำนวณ), ศิลปศาสตร์-ภาษาศาสตร์ (ศิลป์-ภาษา) (แบ่งเป็น วิชาเอก ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น) และ ศิลปศาสตร์-สังคมศาสตร์ (ศิลป์-ทั่วไป) จำนวน 38 ห้องเรียน รวมทั้งสิ้น 76 ห้องเรียน มีคณาจารย์ 170 ท่าน จำนวนนักเรียน 4,200 คน (ข้อมูล ปีการศึกษา 2551)
|
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ถือกำเนิดขึ้น โดยเจตจำนงของ นายผาสุก และ นางเง็ก มณีจักร คหบดีชาวปากเกร็ดสองสามีภรรยา ซึ่งมีบุตรชายและหลานชายเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย [3] บริจาคที่ดินบริเวณใกล้กับถนนติวานนท์เป็นจำนวน 25 ไร่ 1 งาน 18 ตารางวา เพื่อสร้างโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อต้นปีการศึกษา 2520 โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งคือ นายสุวรรณ จันทร์สมอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ผู้อำนวยการกองการมัธยมศึกษาในขณะนั้น, นายสมพงษ์ พูลสวัสดิ์ และนายกว้าง รอบคอบ อดีตอธิบดีกรมสามัญศึกษา ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนปากเกร็ด เป็นผู้ประสานงานจัดตั้ง
ในระยะเริ่มแรก โรงเรียนยังไม่มีอาคารเรียนถาวร มีเพียงที่ดินซึ่งกำลังถมและปรับสภาพ จึงต้องไปอาศัยใช้โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ เป็นสถานที่ในการรับสมัครเข้าเรียน และเมื่อกระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งโรงเรียนฯ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2521 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ๒ (ผาสุก มณีจักร) มีคณาจารย์ชุดแรก 22 คน นักเรียนชั้น ม.ศ.1 และ ม.1 รุ่นแรก จำนวน 12 ห้อง รวม 527 คน ครู-อาจารย์ 22 ท่าน ได้ฝากนักเรียนชายให้เรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และฝากนักเรียนหญิงให้เรียนที่โรงเรียนสตรีนนทบุรี โดยอยู่ในความดูแลของคณาจารย์ชายหญิง รวม 9 ท่าน ต่อมาในปีการศึกษา 2522 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว จำนวน 25 ห้องเรียน และอาคารเรียนถาวร จึงได้ย้ายนักเรียนกลับคืนมาทั้งหมด
แต่เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของโรงเรียนไม่ติดถนน นายประพัฒน์ แก่นรัตนะเจ้าของที่ดินด้านหน้าโรงเรียนที่ติดถนนติวานนท์ จึงได้อนุญาตให้ที่ดินเพื่อสร้าง “ถนนแก่นรัตนะ” (ถนนส่วนบุคคล) เป็นทางเข้าออกโรงเรียน ขนาดของถนน กว้าง 12 เมตร ยาว 343 เมตร และได้ทำหนังสือมอบไว้ต่อกรมสามัญศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2545ได้บริจาคที่ดินในส่วนที่เป็นถนนให้กับทางโรงเรียน โดยเทศบาลนครปากเกร็ดจัดงบประมาณจัดสร้างถนนคอนกรีตให้กับทางโรงเรียน ทำให้พื้นที่ของโรงเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 25 ไร่ 3 งาน 18 ตารางวา จนถึงปัจจุบัน
ต่อมา ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อโรงเรียน จาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ๒ (ผาสุก มณีจักร) เป็น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมพ.ศ. 2525 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระนามาภิไธยย่อ สธ ให้เป็นนามของอาคารเรียนสองหลังแรกของโรงเรียนฯ คือ สธ ๑ และ สธ ๒ พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียนทั้งสองหลังด้วยพระองค์เอง โดยอักษรพระนามาภิไธยย่อ สธ ที่ประดับอยู่บนอาคารในวันนั้น ทำขึ้นจากโฟมพ่นสีทอง ซึ่งเป็นผลงานของนายอมร นิพันธ์ประศาสน์ อาจารย์หัวหน้าหมวดวิชาศิลปศึกษาในขณะนั้น
ปีการศึกษา 2526 โรงเรียนฯ ได้รับงบประมาณให้สร้างถนนลาดยาง จากริมถนนติวานนท์ ถึงทางเข้าประตูโรงเรียน ต่อมาในปีการศึกษา 2527 โรงเรียนฯ ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ และเงินสมทบจากสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนฯ เพื่อสร้างอาคารหอประชุม และในปีการศึกษา 2528 โรงเรียนฯ ได้รับงบประมาณจากกรมสามัญศึกษา และเงินสมทบ จากสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัยฯ, สมาคมผู้ปกครองและครูฯ และเงินบำรุงการศึกษา เพื่อจัดสร้างถนนคอนกรีต ภายในบริเวณโรงเรียนฯ
ในวันที่ 17 พฤศจิกายนพ.ศ. 2529 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามอาคารหอประชุมโรงเรียนฯ ว่า หอประชุม สิรินธราลัย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ศาสตราจารย์ ดร.ธานินทร์ กรัยวิเชียรองคมนตรี ผู้แทนพระองค์ เป็นประธานในพิธีเปิดหอประชุมฯ
วันที่ 9 กันยายนพ.ศ. 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามอาคารเรียนหลังใหม่ว่า สธ ๓ พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียนดังกล่าว พร้อมทั้งสวนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษามหาราชินี, ห้องสมุดสวนเสริมปัญญา และศาลากลางน้ำ ด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ ยังทรงเยี่ยมชมห้องสมุดติณสูลานนท์ รวมถึงนิทรรศการและกิจกรรมทางวิชาการของคณาจารย์และนักเรียนด้วย รวมเวลาที่ประทับอยู่ที่โรงเรียนราว 4 ชั่วโมงเศษ
จากนั้น ในปีการศึกษา 2537 โรงเรียนฯ ได้จัดตั้ง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และ ศูนย์อินเทอร์เน็ตกุหลาบนนท์ เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของโรงเรียน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2538 โรงเรียนฯ ยังได้ทดลองระบบการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ไปยัง โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จังหวัดตาก อีกด้วย ปัจจุบัน เป็นโรงเรียนคู่พัฒนา ร่วมกับโรงเรียนโพธินิมิตวิทยาคม
ปัจจุบัน (พ.ศ. 2553) ดร.ปรเมษฐ์ โมลี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรีฯ จัดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 96 ห้องเรียน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ต้น; ม.1-ม.3) จำนวน 51 ห้องเรียน (18-18-15) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ปลาย; ม.4-ม.6) จำนวน 45ห้องเรียน (17-15-13) มีนักเรียนทั้งสิ้น 4,709 คน อาจารย์ 170 คน อัตราจ้าง 31 คน พนักงานลูกจ้าง 41 คน
รับข้อมูลเพิ่มได้ลิงค์นี้ครับ
ฟังเพลงมาร์ชชมพู-ฟ้า